ตรวจสอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) และการเจรจา

 โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ 

นักวิจัยระดับผู้เชี่ยวชาญ  สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

5 ตุลาคม 2552 
 
เรื่องพิสูจน์อธิปไตยเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของคนไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2552 นั้นกลายเป็นประเด็นร้อน แต่ที่น่าสนใจคือเป็นประเด็นล่อแมงเม่าที่กระทรวงการต่างประเทศ (โดย เฉพาะอย่างยิ่งประธาน JBC ไทย) ตลอดจนถึงรัฐบาลคงอยากให้ที่ปรึกษาและนักวิชาการออกมาพูดแทนตน เพราะกระทรวงการต่างประเทศ และ JBC ไทยไม่เคยออกมาพูดจาให้เหตุผลด้วยตนเองสักครั้ง ทั้งๆ ที่เรื่องปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ในระบอบการปกครองของไทยปัจจุบัน ควรจะเป็นเรื่องมหาชนซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการจัดการปัญหานี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียวจะดำเนินการได้เอง


              การที่มีนักวิชาการและบางคนเคยเป็นที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดแทนใจกระทรวงการต่างประเทศและ JBC ไทย สื่อผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ที่เป็นที่นิยมอ่านในกลุ่มนักวิชาการทั่วไปนั้น ถึงตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้าอยากถามว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เสมือนเป็นนักพัฒนาที่ดินและนำพื้นที่นี้ไปใช้ประโยชน์ที่ดินโดยพัฒนาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดินที่กัมพูชาเสนอโครงการโดยที่คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก เป็นสินเชื่ออยู่เบื้องหลังนั้น กระทรวงการต่างประเทศมีเหตุผลอย่างไรถึงไม่ยืนยันสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น ตลอดจนมีเหตุผลใดจึงยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาเหนือพื้นที่นั้น จึงเป็นเหตุให้เดือดร้อนกันทั่วประเทศ สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนโดยมีคณะกรรมการเจรจาและจัดทำหลักเขตแดนทำข้อตกลงและกฎหมายรับรองการเข้ามายึดครองดินแดนของต่างชาติ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และที่เห็นๆ กันอยู่แล้วตอนนี้คือกระทบต่อสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มประชาชน เกิดความหวั่นไหว ว้าวุ่น กังวลใจ และหวาดกลัว   ขอถามอีกครั้งว่ากระทรวงการต่างประเทศมีเหตุผลใดจึงคิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นสิทธิของกัมพูชา?


              ถ้าดูจากข้อเขียนของนักวิชาการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าเขาเข้าใจว่า คำพิพากษาของศาลโลก  ซึ่งก็นับว่าพูดได้ตรงถึงเหตุปัจจัย แต่กับเหตุผลยังฟังดูแปลกๆ จากที่มีวิวาทะกันมาก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่า  คำพิพากษาศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร ยืนยันแต่ว่าตัวปราสาทตั้งอยู่บนแผ่นดินกัมพูชา จึงไม่ชัดเจนนักว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ตั้งของตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาหรือไม่  ครม.ไทยลงมติให้พื้นที่นี้อยู่ในเส้นเขตแดนของไทย สหรัฐทำแผนที่ทางอากาศให้ไทย จึงรวมพื้นที่ส่วนนี้ไว้ในประเทศไทย ข้ออ้างของไทยเหนือดินแดนส่วนนี้มีเหตุผลหรือไม่ ก็นับว่ามีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยก็ไม่ขัดกับคำพิพากษาของศาลโลกที่ไทยยอมรับ ในทางตรงกันข้าม ข้ออ้างของกัมพูชามีเหตุผลหรือไม่ ก็นับว่ามีเหมือนกัน เพราะหากกัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร ตัวโบราณสถานซึ่งรวมบันไดทางขึ้นของเดิม ก็ควรมี บริเวณ พอสมควร(ตัวอย่างคำอ้างอิงที่ยกมานี้เป็นของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 ตุลาคม 2552 ป.29 ฉ.1520:26) 

      

              ถือว่ามาแนวใหม่ ขยายความและเดาใจต่อออกไปอีกว่าศาลโลกตัดสินอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมทั้งที่ได้อ่านข้อเขียนของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล บุคคลผู้ไม่เพียงอ่านคำตัดสินของศาลโลกทั้งหมดจนจบ หากแต่เป็นผู้อยู่ในคณะทำงานเรื่องนี้ในเวลานั้น และได้รับมอบหมายให้แปลคำพิพากษาตัดสินของศาลโลกเป็นภาษาไทยให้แก่คณะทำงานอีกด้วย จะเข้าใจว่าศาลโลกตัดสินอะไร และอย่างไร

      

              อย่างไรก็ตาม เรากำลังพูดอยู่ว่า ข้อเขียนของนักวิชาการแทนใจกระทรวงการต่างประเทศโดยอธิบายเหตุผลการดำเนินการแต่ผู้เดียวของกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่รับฟังมหาชนหรือความคิดเห็นของประชาชน อย่างไร

1.     การไปจินตนาการเอาว่ากัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทก็ควรมี บริเวณ พอสมควร

2.  การไปเชื่อฟังนักวิชาการที่ใช้ ข้อมูลแบบยอมจำนนหรือ ข้อมูลตายดังที่เคยกล่าวมาแล้ว จนทำให้กระทรวงการต่างประเทศเชื่อมั่นในการดำเนินการแก้ปัญหาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ยึดหลักการมหาชน หรือการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน ขออ้างจากข้อเขียนที่ออกมาคราวเดียวกันในหนังสือเล่มเดียวกัน เสมือนความคิดกระแสหลักที่เป็นพื้นฐานการดำเนินการของรัฐ ทะลักล้นออกมายังประชาชน เรื่องนี้ต้องอ้างยุทธบทความของ สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งมีผลงานเป็นที่อ้างอิงของกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์กรอบการเจรจาไทย-กัมพูชาครั้งที่ 1 เขาได้พยุงความคิดและความเชื่อมั่นของกระทรวงการต่างประเทศ ดูถูกเหยียดหยามประชาชนที่ประสงค์เข้าไปมีส่วนร่วม โดยการพูดเสียดสีแดกดันเอาว่า     “…ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะตัดสินอย่างไรในปี 2505 ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะแม้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจะสูญเสียไปแล้วในปี 2446 และมณฑลบูรพาจะสูญเสียไปแล้วในปี 2449 รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามยังสามารถเอากลับคืนมาได้ แล้วทำไมรัฐบาลปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเรียกร้องเอาเขาพระวิหารคืนจะเอาดินแดนกลับคืนมาไม่ได้เล่า! ”  (อ้างมติชนสุดสัปดาห์ 2-8 ตุลาคม 2552 : 36)

    

              การออกมานำเสนอข้อตักเตือนของข้าพเจ้าให้กระทรวงการต่างประเทศปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำหน้าที่ในคราวนี้ ก็เพราะอยากให้กระทรวงการต่างประเทศได้รับรู้ว่า การดำเนินการของฝ่ายรัฐเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 มาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2552) ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลใด พรรคใด ยังมิได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ แต่กลับดำเนินการกันโดยต่อเนื่องเพื่อสร้างเหตุผลต่างๆ ให้เกิดความชอบธรรมต่อการสนับสนุนกัมพูชาจนทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลเสียในที่สุดแล้วจะยากต่อการเยียวยาแก้ไข ขอยกมาเพียงบางประเด็นที่สามารถเปิดสู่สาธารณะได้และไม่เป็นประโยชน์ต่อชาติอื่น ดังนี้

              1.  การดำเนินการที่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 โดยไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์และความเห็นชอบจากรัฐสภานั้นจะต้องยกเลิก   

                   สาระสำคัญของสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้คือ การผูกเงื่อนงำระหว่างการจัดการเรื่องเขตแดนทางบกกับทางทะเลเข้าด้วยกัน และการผูกเงื่อนงำการจัดการเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในทะเลระหว่างกลุ่มธนาธิปไตยไทย-กัมพูชา ที่ประสานประโยชน์กับกลุ่มค้าพลังงานของโลก

              2.  การดำเนินการที่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 18 มิถุนายน 2551 โดยไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์และความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นกัน นั้นจะต้องยกเลิก

                   แต่เนื่องจากสาระสำคัญของสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้ซึ่งเป็นหนทางดำเนินไปสู่การผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และการรับรองโดยองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ไทยยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชา และมีการ แปลงร่างไปบรรจุอยู่ในข้อตกลงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะดำเนินการให้มีสถานภาพเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหากผ่านกระบวนการทางกฎหมายภายในหรือสภานิติบัญญัติโดยสมบูรณ์ การชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศว่าแถลงการณ์ฉบับนี้สิ้นผลแล้ว เพียงเท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ถ้าหากยึดมั่นในการแก้ปัญหาจริง

              3.  การดำเนินการไปแล้วเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 ที่ได้ผ่านกรอบการเจรจา ซึ่งได้อ้างวัตถุประสงค์หลักของ MOU 2543 ในการตั้ง JBC เพื่อสำรวจการทำหลักเขต 73 หลัก แต่ได้ สอดไส้เรื่อง แผนที่ 1:200,000 ไว้ในข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงมติได้ออกมาโดยเสียงส่วนใหญ่รับรอง 409:7 เสียงไปแล้วก็จริง แต่มตินี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทยที่มีข้อบัญญัติถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ โดยไทยยึดถือสันปันน้ำ นอกจากนี้ JBC หรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมที่ตั้งขึ้น ยังทำผิดหลักการ โดยยุติการสำรวจจัดทำหลักเขตแดน 73 หลักที่ว่า มาเป็นการจัดการ พื้นที่ชิดปราสาทพระวิหารแทน

             

              การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศแต่ฝ่ายเดียวในกรณีที่กล่าวมานี้ ประชาชนที่มิได้เชื่อข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงออกทางพฤตินัยและรวมทั้งทำหนังสือคัดค้านต่อองคาพยพในการบริหารและปกครองแผ่นดินมาโดยตลอด แม้ทางกระทรวงการต่างประเทศจะมีทัศนคติที่ฝืนต่อสังคม กระทำการต่างๆ อันมีผลสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยและดินแดน โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือยอมรับเรื่องสิทธิและหน้าที่ของมหาชนในการปกป้องดูแลประเทศชาติ

             

              กรณีเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 ฝ่ายบริหารโดยรัฐบาลไทยและฝ่ายนิติบัญญัติโดยรัฐสภาไทย ในการประชุมร่วมกันสมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้ร่วมกันกระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยผ่าน กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้  ความผิดครั้งนี้ยังไม่พออีกหรือที่ท่านจะกระทำต่อประเทศไทย เพราะเมื่อ 28 สิงหาคม 2552 และ 2 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีตั้งใจจะนำบันทึกการประชุม JBC  3 ฉบับ ต่อจากเมื่อเดือนตุลาคม 2551 พร้อมกับร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ที่ทำขึ้นที่กรุงพนมเปญเมื่อ 6 เมษายน 2552 เข้าสภา แต่ได้เลื่อนด้วยเหตุผลลับอย่างไรไม่ปรากฏ ร่างข้อตกลงฉบับนี้ยังรอที่จะผ่านสภาอยู่อีกหรือ ความหมายของมันโดยละเอียดเป็นอย่างไร ขอให้กลับไปดูบทความของข้าพเจ้าเมื่อ 26 กันยายน 2552 และ 30 สิงหาคม 2552

             

              งานนี้เห็นทีประชาชนจะต้องเช็คบิลอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติไทยไปที่องค์กรระหว่างประเทศองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ท่านเองก็กลัวนักกลัวหนา อ้างคำของนักวิชาการที่ปรึกษาของท่านมาขู่ชาวบ้านไปจนทั่วว่า ไทยจะมีภาพเป็น รัฐอันธพาล และถูกแทรกแซงโดยรัฐมหาอำนาจและองค์กรพหุภาคีต่างๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคถึงระดับโลก   เพราะคราวนี้จะเป็นทีของประชาชนบ้างละ ที่จะฟ้องท่าน ว่าท่านเป็นรัฐอันธพาลข่มเหงรังแกประชาชนของตนเอง!



              และงานนี้ประชาชนก็จะไม่ลืมกระทรวงการต่างประเทศแน่ๆ เพราะต้นคิดทั้งหมดก็มาจากท่าน การกระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้งมาจากกลไก JBC และยิ่งผูกมัดแน่นเข้าไปอีกเมื่อโครงสร้างของ JBC นั้นทำให้ JBC หรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมมีอำนาจมากที่สุดในทางปฏิบัติเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และปรากฏอีกด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศโดยตำแหน่งได้เป็นถึงประธานฝ่ายไทยของคณะกรรมาธิการชุดนี้ บุคคลและหน่วยงานอื่นถือว่าเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และ อื่นๆ  โครงสร้างแบบนี้ชัดเจนว่า คราวนี้กระทรวงการต่างประเทศไม่ต้องมาซัดหรือปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นอีกต่อไปแล้ว

             

              ข้อเสนอ ในฐานะที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานเจ้าภาพของเรื่องนี้  จึงขอให้นำข้อมูลต่างๆทั้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของประชาชน เสนอนายกรัฐมนตรี  ถอนมติที่ผิดไปเสีย  และยกเลิกการนำร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาเข้าสภา  พิจารณากลไก JBC (ถึงบางอ้อว่า รมต.กษิต ภิรมย์ ถึงพูดคำว่า เจรจา 41 ครั้ง ใน 40 นาทีของการชี้แจงหน้าจอโทรทัศน์เมื่อ 7 กันยายน 2552) และหากลไกอื่นๆมาใช้ด้วย เช่น การดำเนินการตามข้อบทกฎหมายของกระทรวงต่างๆที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังในทางป้องกันตนเองในยามจำเป็นและเมื่อถูกคุกคาม (ตามที่กฎหมายไทยและแม้แต่กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้)    การแก้ปัญหานี้ กระทรวงการต่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และรับฟังเสียงประชาชน  

อำนาจและหน้าที่ของ JBC  :  JBC ไทย-กัมพูชา มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดใน MOU 2543 หรือ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา  ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก    แต่มี 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการใช้กลไก JBC โดยอิงเรื่องอำนาจหน้าที่ และนำไปสู่คำถามเรื่อง  ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรัฐสภาไทย คือ

              ...   (ข)   พิจารณาและรับรองแผนแม่บท และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วม

              (ค)   กำหนดความเร่งด่วนของพื้นที่ ที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน 


              โครงสร้างและองค์ประกอบของ JBC ฝ่ายไทย : มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน   ผู้อำนวยการกองเขตแดนของกระทรวงการต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ   กรรมการอื่นๆ ประกอบด้วย  เลขาธิการสภาความมั่นคง  เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ  ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด  เจ้ากรมแผนที่ทหาร  เจ้ากรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ  ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย  อธิบดีกรมการปกครอง  อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก  ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  และ อธิบดีและรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาทางกฏหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

              โครงสร้างและองค์ประกอบเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะมีความรับผิดชอบกันทั้งคณะ แต่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นที่เป็นเจ้าภาพหลักของเรื่อง

              ปัจจุบัน ประธาน JBC ชื่อ นายวศิน  ธีรเวชญาณ     มีข้อมูลของสำนักข่าวไทยที่จะทำให้รู้จักประธานได้มากขึ้น ดังนี้

       ดอนเมือง 21 ต.ค. 2551 นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. วันนี้ (21 ต.ค. 2551) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้ง นายวศิน ธีรเวชญาณ อดีตเอกราชฑูต ณ กรุงโซล และอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย

       ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งของ รมช.ต่างประเทศ แต่เนื่องจากยังไม่มี รมช.ต่างประเทศ   ครม.จึงแต่งตั้งนายวศิน มาเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบกรอบการเจรจาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และจะนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญต่อไป


              การใช้กลไก JBC โดยอิงเรื่องอำนาจหน้าที่ของ JBC แก้ปัญหาสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา : จากอำนาจหน้าที่ของ JBC ที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่การสร้าง ข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร  เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ในวันที่  28 ตุลาคม 2551

              สาระสำคัญของข้อตกลงชั่วคราวฯ ฉบับนั้น มีข้อหนึ่งระบุว่า    “2.4. ให้ JBC กำหนดพื้นที่ ที่จะทำให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บท และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของ JBC และทำให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมก่อนที่ชุดสำรวจจะเริ่มงาน


              บรรยากาศในรัฐสภาไทย วันที่ 28 ตุลาคม 2551 : กลุ่มประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทยยื่นหนังสือแจ้งเพื่อทราบและคัดค้าน   กรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบ JBC และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้  ยังนายประสพสุข บุญเดช  ประธานวุฒิสภาไว้ เพราะไม่วางใจข้อมูลและเอกสารที่ JBC จะนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัดค้านเรื่องแผนที่ หากจะมีการใช้แผนที่ของกัมพูชา 1:200,000 หรือที่เรียกว่า Annex I ซึ่งทางกลุ่มประชาชนกลุ่มนี้ท้วงติงด้วยเหตุผลที่มาจากการศึกษาและทำรายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะ สถาบันการศึกษา   และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เรื่อง แผนที่ฝรั่งเศสทำแต่ฝ่ายเดียว!” เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการ ใช้ในการคัดค้านแผนที่ฉบับดังกล่าว

              กลุ่มประชาชนฯ ไม่ได้รับข้อมูลหรือคำตอบใดๆ กลับแม้หลังจากวันนั้น รับรู้แต่เพียงว่าเป็นการประชุมลับ!

              อย่างไรก็ตาม จากวิธีการและกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชน จึงทำให้ได้รับข้อมูลและเอกสารแจกในที่ประชุมของวันนั้นต่อมาในภายหลัง  เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อว่า Terms of Reference and Master Plan for The Joint Survey and Demarcation of Land Boundary between the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Cambodia เข้าใจว่าเป็นเรื่องในลำดับที่ 4 ของบัญชีเอกสาร และเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาฯ ที่ทำมาเป็นภาษาไทย โดยในเอกสารภาษาไทยนั้นไม่ได้ระบุที่ใดเลยว่าเป็นแผนที่ 1:200,000  ข้าพเจ้าต้องเขียนข้อมูลให้ชัดเจนอย่างนี้ไว้เพื่อประกอบความน่าเชื่อถือของบทความ เอกสารนี้ให้ความชัดเจนว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ JBC ดังที่ระบุในข้อ (ข) และ (ค) ข้างต้น

              เช่นเดียวกัน เอกสารนี้ให้ความชัดเจนอีกด้วยว่า JBC ทำเกินอำนาจหน้าที่ของตน ตรวจสอบได้ว่า ได้ระบุถึงแผนที่ที่จะใช้  ว่า (hereinafter referred to as “the Maps of 1:200,000”)นั่นเป็นการตรวจสอบที่พบ จุดที่ 1


              ตรวจสอบการทำเกินอำนาจหน้าที่ของตน จุดที่ 2 ในเอกสารนี้  อยู่ที่การระบุพื้นที่สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งระบุเพิ่มพื้นที่ตอนที่ 6 เขาสัตตะโสม และพื้นที่ตอนที่ 7 ช่องบก ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ของ 73 หลักตามสันปันน้ำนั้น และการสำรวจจัดทำหลักเขตแดนเก่าที่แล้วเสร็จมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หากแต่ในขณะนี้มีการชำรุด สูญหาย และเคลื่อนที่

              นอกจากนี้ขั้นตอนและความหมายทางหลักวิชาการนั้น คำว่า สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน แตกต่างกับ การปักปันเขตแดนแตกต่างอย่างไร และกระทรวงการต่างประเทศมีเจตนาอย่างไร ข้าพเจ้าได้เขียนเหตุผลอธิบายไว้ในบทความชื่อ การปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จหรือ? เผยแพร่ต่อสาธารณะตั้งแต่คัดค้านการทำแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ฉะนั้นการทำงานของ JBC ในพื้นที่ตอนที่ 1-5 ซึ่งเป็นเรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน 73 หลัก จึงต่างจากการทำงานในพื้นที่ตอนที่ 6 และ 7 เมื่อเป็นดังนี้ไม่สมควรกล่าวได้เลยว่า JBC ได้ปฏิบัติตามหลักการและวัตถุประสงค์ของ MOU 2543 ที่คณะรัฐมนตรีมีมตินำกรอบการทำงานนี้เข้าพิจารณารับความเห็นชอบจากรัฐสภา  ไล่ย้อนขึ้นไปก็จะเกิดความสงสัยขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไล่ย้อนกลับลงมาก็จะเกิดคำถามกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ปราสาทพระวิหารหรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเช่นกัน  ว่าทำตามขั้นตอนหรือไม่ เป็นไปตามหลักการของ MOU 2543 หรือไม่อย่างไร รวมทั้งการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551  ถึงแม้ JBCจะหาทางออกทุกครั้งว่า ข้อตกลงนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบทาง JBC  ก็ไม่มีทางรอดที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง   และต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ว่าคนไทยทำอย่างนี้กันเพื่ออะไร

              ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรยกเลิกการเจรจาหรือข้อตกลงใดๆ ภายใต้ JBC ถ้าหาก JBC ฝ่ายไทยยังทำตัวเสมือนเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาตามหลักฐานเอกสารที่ปรากฏเช่นนี้

              จึงขอให้คณะรัฐมนตรี ช่วยกันแก้ไขเยียวยาประเทศ มิฉะนั้นประชาชนจะดำเนินการใช้สิทธิทางศาลและที่พึ่งอื่นๆ  ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎบัตรสหประชาชาติ 


              ( และขอเตือนมาเฉพาะกับ JBC ฝ่ายไทยว่า เกมนี้เลิกเล่นมุกเรื่อง ไทยยอมรับแผนที่กัมพูชาอีกเด็ดขาด! )