คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่มี ม.ร.ว สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการ ชอบคิดโครงการที่ประหลาดๆ และเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินมากๆ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า คนส่วนใหญ่จะได้รับผลประโยชน์อย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น โครงการสร้างหอคอย สูงสุด ในกรุงเทพ โครงการสร้างทางเดินลอยฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง โรงพยาบาลศิริราช ท่าพระจันทร์ โครงการโมโนเรล รอบๆ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฯลฯ
โครงการที่กล่าวมานี้ถูกต่อต้านจากบุคคลกลุ่มองค์กรต่างๆ เพราะพิจารณาโดยสามัญสำนึกแล้วไม่น่าจะเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากับเงินลงทุนหลายพันล้านบาท ที่มาจากเงินภาษีอากรของคนกรุงเทพ
ล่าสุดคือ โครงการซุปเปอร์สกายวอล์ค หรือ โครงข่ายทางเดินลอยฟ้า ระยะทาง 50 กิโลเมตร ครอบคลุมถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอยนานาไปจนถึงซอยแบริ่ง ถนนพญาไท ถนนรามคำแหง และฝั่งธนบุรี ตั้งแต่เชิงสะพานตากสิน ไปถึงบางหว้า
กล่าวคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ไปถึงไหน ใต้รางรถไฟก็จะก่อสร้างทางเดินตามไปด้วย เหมือนที่เกิดขึ้นในเส้นทางรถไฟฟ้าจากสยามสแควร์ ไปถึงย่านเพลินจิตในขณะนี้
ทางเดินลอยฟ้า หรือสกายวอล์คนั้น มีประโยชน์แน่ เพราะทำให้การเดินทางไปในห้างสรรพสินค้าแถวๆนั้น โดยรถไฟฟ้าบีทีเอส มีความสะดวกสะบาย เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้โดยสาร และผู้ประกอบการ
แต่สำหรับโครงการซุปเปอร์สกายวอล์ค ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 15,000 ล้านบาท หรือตกกิโลเมตรละ 300 ล้านบาทนี้ กรุงเทพมหานคร จะโฆษณาสรรพคุณอย่างไร ก็ยังไม่เห็นว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้อย่างไร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เห็นจะมีแต่ งบประมาณ การก่อสร้าง ที่จะได้กับผู้รับเหมา ที่ถูกโยกย้ายไปใช้ช่องทาง บริษัทกรุงเทพธนาคม เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน
โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คนี้ จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยการก่อสร้างในเฟสแรกระยะทางรวม 16 กิโลเมตร จะเริ่มในเดือนมีนาคม 2554 ใช้เวลา 18 เดือน ส่วนเฟสที่สอง ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557
นับว่ารวดเร็วและเงียบเชียบเป็นอย่างยิ่ง สำหรับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้
กรุงเทพมหานคร เคยทำประชาพิจารณ์สอบถามคนกรุงเทพไหมว่า มีความคิดเห็นอย่าางไรกับโครงการนี้เคยทำแผนศึกษาผลกระทบต่อสิงแวดล้อมไหม เงินที่จะนำมาก่อสร้าง มาจากไหน เป็นงบประมาณกรุงเทพมหานคร หรือเป็นเงินกู้ ถ้าเป็นเงินกู้แล้ว ใครคือผู้ต้องใช้คืนจ้าหนี้ และถ้าการก่อสร้างจะเริม่ต้นขึ้นในเดือนนี้แล้ว แสดงว่า ต้องมีผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว เป็นใคร มาด้วยกระบวนการว่าจ้างแบบไหน
สิ่งต่างๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการ และเป็นการแสดงถึง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เคยปรากฎต่อสาธารณชน มีแต่คำบรรยายสรรพคุณของโครงการที่ฟังดูสวยงาม
นักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นระดับชาติ หรือ ระดับท้องถิ่นก็ตามแต่ เลือกที่จะทำงานที่ง่าย ทำแล้วได้ผลในการสร้างภาพ และประชาสัมพันธ์ เป็นงานที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อที่จะได้มีส่วนแบ่ง ที่เอกชนผู้ได้รับงาน จะจ่ายย้อนคืนกลับมาให้
งานที่เป็นการแก้ไขปัญหา ความเดิอดร้อนของประชาชนได้จริง ไม่ทำกัน เพราะเป็นงานที่ยก ต้องทุ่มเทใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล และไม่ได้เงิน
กรุงเทพมหานคร มีปัญหามากมายเต็มไปหมด แต่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในยุคนี้ รวมทั้งยุคที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า ไม่แก้ปัญหาที่มีอยู่ แต่ชอบทำเรื่องใหม่ๆที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่หมักหมมกันมานาน และเรื่องใหม่ๆนี้ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ที่คุ้มกับการลงทุนแต่อย่างใด
ยกตัวอย่าง เช่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเท้าถูกพ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ แผงลอยยึด ก็ใช้ความล้มเหลวนี้ เป็นข้ออ้างในการสร้างทางเท้ากิโลเมตรละ 300 ล้านบาท หรือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้ ก็ใช้เป็นข้ออ้าง ซื้อรถเมล์ เพื่อทำโครงการบีอาร์ทีขึ้นมา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้รถติดหนักกว่าเดิม และ กทม.มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คือต้องจ่ายเงินให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ปีละ 200 ล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี เป็นค่าจ้างเดินรถบีทีอาร์เป็นต้น
เงิน 15,000 ล้านบาท ที่กรุงเทพมหานครไปกู้มาจากธนาคารออมสิน เอามาให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม สร้างซุปเปอร์สกายวอล์คนี้ ถ้าผู้ริหารกรุงเทพมหานคร มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาของคนกรุงเทพจริงๆ แล้ว จะสามารถทำประโยชน์ได้มาก
ยกตัวอย่างเช่นทำไม ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ หรือ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า ซึ่งว่ากันว่า เป็นผู้ว่า ตัวจริงไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหารถบีอาร์ทีกันอย่างจริงจัง ถ้าไม่เลิก ก็ขยายเส้นทางไปให้สุดทางถนนราชพฤกษ์จริงๆ ไม่ใช่สิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นถนนราชพฤกษ์ ตรงหน้าห้าง เดอะ มอลล์ ท่าพระแล้วมาโฆษณาว่า เป็นเส้นทาง สาธร-ราชพฤกษ์ การที่ประชาชนไม่นิยมใช้บริการบีอาร์ที เพราะมีระยะทางที่สั้นมาก เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องไปทำงาน หรือไปชอบปิ้ง ที่ห้างเดอะมอลล์ทุกวันเท่านั้น ถ้าขยายเส้นทางไปให้ถึงย่านที่พักอาศัย สองฝั่งถนนราชพฤกษ์ รับรองว่า มีผู้ใช้บริการแน่นทุกวันแน่
จริงอยู่ที่ การจะขยายเส้นทางบีอาร์ทีที่ว่ามานี้ มีข้อจำกัดมาก เพราะต้องออกนอกเขตปกครอง กรุงเทพมหานคร และถนนราชพฤกษ์นั้น เป็นถนนของกรมทางหลวงชนบท ไม่ใช่ของ กทม. แต่งานยากๆแบบนี้แหละ ที่เป็นความท้าทายที่ผู้ว่า กทม. ต้องพิสูจน์ฝีมือ เพราะถ้าทำได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้อย่างยั่งยืน
คนกรุงเทพเลือกผู้ว่า กทม. เพื่อให้มาทำงานยากๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ แต่ผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งทุกคน เลือกที่จะทำงานง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้กึ๋นอะไรเลย ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งการสร้างภาพ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาของคนกรุงเทพเลย