‘อภิสิทธิ์’กำลังพาประเทศชาติล่มจม

ศ.ดร.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังหลงอยู่ในอำนาจ ต้องการอยู่ให้นานที่สุดทั้งที่หมดความชอบธรรมแล้ว ไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติ กำลังพาประเทศชาติและประชาชนไปสู่ความหายนะ และเมื่อไรที่สีเหลือและสีแดงออกมาพร้อมกัน เมื่อนั้นจะเกิดความโกลาหลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

วิกฤตการเมืองไทย

วิกฤตการเมืองในประเทศไทยมีมายาวนาน อาจแบ่งปัญหาได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1.เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย เช่น การมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมของทหาร หรือเรียกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย แล้วค่อยๆมาเป็นกึ่งประชาธิปไตยหรือกึ่งอำมาตย์ โดยอีกกึ่งหนึ่งคือบรรดานักธุรกิจที่ตั้งพรรคการเมืองหรือเข้ามาเล่นการเมืองเรียกว่าธนาธิปไตย

แต่ในที่สุดกลุ่มอำมาตย์ก็ยึดอำนาจกลับไปชั่วขณะในช่วงเดือน พ.ค. 2534 จากนั้นอำนาจก็กลับคืนสู่ฝ่ายธนาธิปไตย จนกระทั่งเห็นว่าการเมืองเดินไปข้างหน้าท่าจะไปไม่ไหวจึงต้องยอมปฏิรูปการเมืองจนนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่แทนที่เราจะได้ประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกลับได้ธนาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบคือ พรรคไทยรักไทยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นตัวแทนของธนาธิปไตยที่กึ่งผูกขาด มีทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจเงิน

ในที่สุดฝ่ายอื่นๆก็ร่วมกันโค่นล้มธนาธิปไตยของคุณทักษิณ ทหารเข้ายึดอำนาจอีกครั้งในเหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 หลังจากนั้นปัญหาก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยังบ่มเพาะปัญหาให้เกิดความรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้น ถ้าเรามองวิกฤตการณ์การเมือง ในลักษณะแรกเป็นการสั่งสมบ่มเพาะมายาวนาน สะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และยังสร้างทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมตามมา โดยมีช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนสูงขึ้นตามลำดับ เกิดความไม่เสมอภาคทางสังคม เป็นสังคมที่เป็นเมืองโตเดี่ยวกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ แม้จะมีความพยายามกระจายอำนาจออกไปแต่ก็เป็นแค่ทฤษฎีหรือแนวคิด ไม่สามารถปฏิบัติได้ ทำให้ปัญหาสั่งสมพอกพูนมากขึ้น นี่คือลักษณะที่ 1

ลักษณะที่ 2 เป็นวิกฤตที่เกิดจากการสั่งสมจากวิกฤตแรก แต่มาหนักหน่วงเพราะขัดแย้งระหว่างกลุ่มอิทธิพลกับกลุ่มผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งกรณีที่คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยถูกฝ่ายอื่น ผมอาจไม่เรียกว่าฝ่ายอำมาตย์ แต่เป็นหลายฝ่ายร่วมมือกันโค่นล้มจนนำมาสู่ความแตกแยกทางการเมืองครั้งใหญ่ เราจะเห็นได้ชัดว่าฐานอำนาจของกลุ่มคุณทักษิณเป็นฐานอำนาจในชนบท เพราะคุณทักษิณได้ใช้นโยบายประชานิยมผูกมัดใจคนเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าคุณทักษิณก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทั้งการถูกโค่นล้มจากอำนาจทางการเมือง ถูกดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ จึงพยายามชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มี 2 มาตรฐาน

อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น แต่เป็นลักษณะที่จับแบบหลวมๆเพราะเห็นศัตรูคนเดียวกัน แต่วัตถุประสงค์ที่จับมือกันโค่นล้มคุณทักษิณอาจจะมีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มอาจจะเป็นชนชั้นสูงที่เห็นว่าคุณทักษิณท้าทายต่อสถาบันเบื้องบน หรืออาจทำให้เกิดความสั่นคลอนในทางการเมืองที่จะบั่นทอนเสถียรภาพสถาบันพระมหากษัตริย์

กลุ่มชนชั้นกลางเป็นบุคคลที่หัวก้าวหน้า ค่อนข้างเน้นในเรื่องของการสร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ไม่มีการผูกขาดอำนาจ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน และไม่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งกลุ่มชนชั้นกลางส่วนใหญ่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ ส่วนกลุ่มอื่นๆอาจเป็นกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น ภาคใต้ ซึ่งมีทั้งคนมีฐานะ คนจน และกลุ่มอื่นๆที่มีความหลากหลาย มีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกันแต่ก็ร่วมมือกัน

วิกฤตการณ์ 2 ลักษณะนี้กำลังมารวมกันจึงกลายเป็นมรสุมที่มีทั้งลูกเล็กหรือหลายๆกลุ่มมารวมกับมรสุมใหญ่ ผมเกรงว่าจะกลายเป็นกระแสหรือมรสุมที่ใหญ่โต และจะสร้างวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการบ่มเพาะสถานการณ์ให้สุกงอม ซึ่งเราตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร อาจจะเพียงปีเดียว หรือ 3-5 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปี แต่ผมคิดว่าในสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันหรือในอนาคตที่กระแสโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร และสารสนเทศที่ทัดเทียมกันทั่วโลก จะเป็นตัวที่จะบ่มเพาะให้วิกฤตการณ์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

เหลือง-แดงไล่รัฐบาล

ขณะนี้เราจะเห็นวิกฤตการณ์ที่กำลังบ่มเพาะ ฝ่ายหนึ่งเกิดจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินหรือคนเสื้อแดง ที่ต่อสู้เรียกร้องจะนำคุณทักษิณกลับมา ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือเสื้อเหลืองก็ใช้ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารที่เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้กำลังจะมาบรรจบกัน และถ้าวันหนึ่งทั้ง 2 กลุ่มดีเดย์ คือเรียกประชาชนออกมายืนบนท้องถนนพร้อมๆกัน ตากแดดไม่กี่ชั่วโมง ผมคิดว่าอาจมีประชาชนออกมาแสดงพลังจำนวนมหาศาล เป็นการแสดงมติมหาชนกลายๆ อาจทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้ารัฐบาลยังคิดไม่ถึง ยังหวงแหนในอำนาจของตัวเองต่อไป ยังไม่ยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพื่อคลี่คลายปัญหาวิกฤตการเมือง ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็จะเป๋และเป็นรัฐบาลที่หลุดจากขั้วอำนาจต่อไปได้

อันนี้ยังไม่รวมถึงขั้นที่อาจจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา ซึ่งการจะเลือกตั้งใหม่หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยระยะสั้นๆนี้ โดยเฉพาะให้จับตาดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองที่จะมาบรรจบกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ คาดว่าจะเกิดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ขอให้ทุกฝ่ายจับตาดูให้ดี จะเกิดการมาบรรจบกันโดยไม่ได้ตั้งใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิด

ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นมีหลายลักษณะ เช่น อาจเกิดการนองเลือดอีกครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร หรือการเกิดรัฐบาลแห่งชาติ ตรงนี้เป็นอาการของโรค ผมยกตัวอย่าง ถ้าคนเชียงใหม่ชุมนุม 100,000 คน คนอุดรธานีชุมนุม 100,000 คน และคนกรุงเทพฯชุมนุมอีก 200,000 คน มันคืออาการของโรค สะท้อนให้เห็นถึงสุขภาพของคน เพราะอาการมันโผล่ เช่น ตัวร้อน เป็นจ้ำตามร่างกาย แสดงว่ามีเชื้อโรคแทรก เมื่ออาการของโรคออกมาเป็นแบบนี้แสดงว่าเชื้อโรคที่จะแทรกมันง่ายมาก และโรคแทรกแซงที่มีโอกาสจะเป็นไปได้และเป็นที่นิยมยอดฮิตคือ การรัฐประหาร เพราะเกิดมาแล้วตั้ง 10 กว่าครั้งแล้วทำไมจะเกิดอีกไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมไม่สงบสุข

เมื่อสังคมเกิดความโกลาหล ความอลหม่าน เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มันไม่มีเครื่องมือไหนดีไปกว่าการใช้วัคซีนทหารเพื่อทำให้สังคมสงบลง แต่การใช้วัคซีนทหารก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบหรือไม่ในอนาคต เพราะอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ ตรงนี้ก็เสี่ยงเหมือนกัน

โรคแทรกซ้อนประการที่ 2 คืออาจเลิกใช้วัคซีนทหาร เพราะเห็นว่าไม่เหมาะแล้ว ร่างกายดื้อยาแล้ว อาจจะต้องใช้ยาตัวอื่นแทน เช่น สมัยที่รัฐบาลคุณทักษิณจะไปก็เคยมีแนวคิด เช่น มาตรา 7 มีรัฐบาลแห่งชาติบ้าง ไม่ต้องไปรัฐประหารแบบเดิม หยุดพักการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราวแล้วก็มีรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาชั่วคราว ลักษณะอย่างนี้อาจทำได้ และอาจทำให้ร่างกายหรือสังคมมีความสงบสุขได้ในระยะสั้นๆ แต่รัฐบาลแห่งชาติจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ

อย่างที่พูดไว้คือ สมการที่ขัดแย้งกันอยู่คือเอาคนซึ่งอาจจะเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพสูง แต่ไม่มีความชอบธรรม คนก็จะต่อต้านอีกหรือไม่ เพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนแล้วมาบริหารประเทศ ต่อไปก็อาจมีคนออกมาต่อต้านแล้วจะแก้อย่างไร เสถียรภาพทางการเมืองก็จะสูญเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลแห่งชาติมาแล้วไม่ได้เรื่องก็ไปไม่รอดเช่นกัน

โรคแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นได้มีอย่างน้อย 2 แนวทางคือ เกิดรัฐประหาร กับรัฐบาลแห่งชาติ โรคแทรกซ้อนอย่างอื่นยังมีอีก มันอาจจะรุนแรง ต้องเข้าใจว่าระบบการเมืองเกิดแล้วก็ดับได้ ตายได้ แต่ตายแล้วมันเกิดใหม่ เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดกลียุค เกิดอนาธิปไตย มีการล่มสลายของสังคมไทย ระบบการเมืองล่ม ที่ผมไม่อยากพูดเพราะอาจรุนแรงจนกระทั่งนำไปสู่สังคมใหม่ ระบบใหม่ ส่วนจะเป็นแบบไหนเรายังไม่ควรพูดเพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอม แต่ถ้าพูดแล้วอาจกระทบต่อสถาบันทางการเมืองหลายๆแห่ง

ท่าทีนายกฯอภิสิทธิ์

คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นนักการเมืองธรรมดาคนหนึ่ง ไม่แตกต่างอะไรจากนักการเมืองในอดีตที่พยายามครองอำนาจให้มากที่สุด ยาวนานที่สุด ทั้งๆที่แก้ปัญหาประเทศไม่ได้หรือขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะไม่จริงใจแก้ปัญหาประเทศ การปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการเมือง แต่เขาอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาก็พยายามอยู่ไปให้นานที่สุด โดยพยายามลดกระแสการต่อต้านลงไปด้วยคำพูด เช่น บอกจะมีการยุบสภาก่อนที่จะหมดวาระต่างๆ แต่ใจจริงแล้วอาจจะอยู่ใกล้ๆครบวาระ ยกเว้นว่าอยู่ไม่ได้เพราะสถานการณ์บีบรัด แต่ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยก็อยากอยู่ให้นานที่สุด เพราะสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์พูดนั้นไม่มีอะไรเป็นคำมั่นชัดเจนที่จะผูกมัดตัวเอง

รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ยังมีลักษณะเป็นรัฐบาลของนักการเมืองที่แอบอิงผลประโยชน์และเล่นการเมืองแบบเก่าๆ โดยไม่พยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ แม้กระทั่งการที่บอกยุบสภาก็ไม่สามารถบอกให้แน่ชัดว่าจะยุบเมื่อไร แต่พยายามใช้วิธีการลดโทน ลดกระแสโดยให้คนอื่นออกมาพูดบ้าง เช่น ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดว่าจะยุบสภาภายในเดือนมิถุนายน เขาก็จับไต๋ได้หมดแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณอภิสิทธิ์จะเป็นรัฐบาลต่อไป ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์น่าจะยุบสภาให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อาจจะทำให้ปัญหาที่ปะทุในขณะนี้คลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง

คุณอภิสิทธิ์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ก็อย่าไปหวังที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก อันนี้ด้วยตัวของตัวเอง อย่าไปคิดว่าเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ยังแน่นแฟ้น สามารถรวมพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอีก มันคือการคิดแบบเก่า ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ถ้าตัวเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ควรจะเปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นมา ทุกวันนี้เราเล่นการเมืองแบบเก่า คิดแบบเก่า คิดอยากจะอยู่ในตำแหน่งนานๆเหมือนผู้นำเผด็จการ ในที่สุดวันหนึ่งประชาชนก็จะลุกฮือขึ้นมาโค่นล้ม เพราะคุณอยู่ไปก็ไม่มีความชอบธรรม แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ผมคิดอย่างนั้น ตรงนี้เราอย่าไปเอาประโยชน์ส่วนตัวมาบดบังประโยชน์ของประเทศ

ประเทศอยู่ภาวะอันตราย

ใช่ เป็นเพราะทุกวันนี้เราเล่นการเมืองโดยพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัวแทบทั้งสิ้น เราจะไม่หลุดพ้นไปจากการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่สั่งสมจากวิกฤตการณ์ลักษณะแรกที่ผมอธิบายไปก่อนหน้านี้มาจนถึงวิกฤตการณ์ลักษณะที่ 2 จะทวีปัญหาให้หนักหน่วงมากขึ้น แต่จะไม่ช่วยลดทอนปัญหาให้น้อยลง อันนี้คืออันตรายของประเทศไทย และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เดินไปอย่างนี้เรื่อยๆ ในที่สุดจะเดินตกเหวกันทั้งประเทศ เพราะผู้นำเดินนำหน้าพาประชาชนตกเหวไปด้วย ผลงานที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีไม่ได้

เท่าที่ประเมินสถานการณ์ผมยังมั่นใจว่าคุณอภิสิทธิ์จะยังไม่ยุบสภาในเร็วๆนี้ แต่จะยุบสภาช่วงใกล้ครบวาระ ถือเป็นความเลวร้ายที่สุด โดยคุณอภิสิทธิ์ใช้กลยุทธ์ตามที่คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำ โดยจะยุบสภาก่อนครบวาระ 1 เดือน คุณอภิสิทธิ์คงคิดง่ายๆว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการอยู่ในช่วงที่มีในวโรกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสุดท้ายรักษาสัจวาจาที่จะให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้อยู่คือ ให้เลือกตั้งในปลายเดือนธันวาคมก็ภายใน 60 วัน

ดังนั้น คุณอภิสิทธิ์จะไปยุบสภาในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งทุกอย่างลงล็อกพอดี ผมขอย้ำว่าถ้าคุณอภิสิทธิ์คิดแบบนี้ ผมคิดว่าในที่สุดคุณอภิสิทธิ์จะไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออาจจะอยู่ไม่ถึงเพราะโรคแทรกซ้อนจะมาก่อน แต่ถ้าคุณอภิสิทธิ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ถือเป็นความโชคร้ายของประเทศไทย เพราะประชาชนเราอยู่ในระดับแค่นี้ ประชาชนอาจมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ หรือประชาชนไม่ได้เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ขึ้นมาบริหารประเทศ หรือด้วยปัจจัยข้อจำกัดของสังคม นี่คือจุดอ่อนของประชาธิปไตย

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 300 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข